Thursday, August 8, 2013

การเลือกซื้อบ้านมือสอง



จุดที่ต้องสังเกตเมื่อต้องเลือกซื้อบ้านมือสอง

1. สอบถามถึงประวัติของตัวบ้าน เช่น สร้างมากี่ปี มีแบบพิพม์เขียวหรือไม่ ใครเป็นผู้ออกแบบ ใครเป็นผู้ก่อสร้าง ใครเป็นเจ้าของเดิม ย้ำว่าข้อมูลทุกอย่างมีความสำคัญและ สามารถนำมาเป็นข้อมูลประกอบการแก้ปัญหาตัวบ้านได้ในภายหลัง


2. ดูด้วยสายตาโดยรอบตัวบ้าน เพื่อให้แน่ใจว่าตัวบ้านไม่เอียงหรือทรุดตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง หากพบว่าตัวบ้านเอียง ให้คาดคะเนได้เลยว่า ตัวฐานรากใต้ดินมีปัญหา ซึ่งค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงพอควร


3. สภาพงานทาสีบนผนังทั้งภายใน ภายนอกว่ามีสีหลุดล่อนเป็นแผ่นๆ หรือสภาพขึ้นราหรือไม่ บางครั้งอาจพบว่าคุณภาพของสีเดิมแย่มากจนมองเห็นรอยแตกลายงาบนผนังได้ ถ้าเจอสภาพแบบนี้ก็คงจะต้องเตรียมเงินค่าทาสีใหม่ทั้งหลังไว้ได้เลย


4. ดูสภาพปูนฉาบบนผนังก่ออิฐ โดยใช้สันเหรียญขูดหนักๆบนผิวผนัง หากเป็นอาคารเก่าประเภทอายุ 30 ปีขึ้นไป เราจะพบว่าปูนฉาบจะหลุดร่วงลงมาเป้นผงแป้ง ถ้าเป็นแบบนี้ก็ควรเตรียมค่าสกัดผิวปูนฉาบ และฉาบปูนใหม่ทั้งหลัง


5. สำหรับบ้านที่มีโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ในสังเกตเสา คาน และผนังก่ออิฐ โดยทั่วไปว่ามีรอยแตกรอยร้าวหรือไม่ หากพบว่ามีรอบแตกร้าวรูปฟ้าผ่าเป็นแนวเฉียง 45 องศา ให้คาดคะเนไว้ว่าโครงสร้างเสาและฐานรากน่าจะมีปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การทรุดเอียงของตัวบ้านได้ และการแก้ปัญหาลักษณะนี้ก็ค่อนข้างยากเช่นกัน ขอแนะนำให้เปลี่ยนไปเลือกดูบ้านหลังอื่นๆจะดีกว่า


6. สำหรับบ้านที่มีโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ให้สังเกตดูขนาดเสาบ้านที่เหมาะสม เช่น บ้านสองชั้นเสาก็ควรมีขนาด Ø 20 x 20 เซนติเมตร และบ้านสามชั้น เสาก็ควรมีขนาดอย่างน้อย Ø 25 x 25 เซนติเมตรจึงจะดี


7. สำหรับบ้านที่โครงสร้างพื้นชั้นล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ให้ดูว่าพื้นชั้นล่างมีการแอ่นตัวหรือไม่ และให้สังเกตดูรอบๆพื้นที่ห้องว่ามีรอยแตกบริเวณมุมผนังชนผิวพื้นหรือไม่ หากพบว่ามี ให้คาดคะเนว่าพื้นห้องดังกล่าวเป็นพื้น ค.สล.ชนิดวางบนดินและดินใต้บ้านอาจเป็นโพรงดิน จึงส่งผลให้เป็นพื้นทรุดตัวตามกันลงไป การแก้ปัญหาแบบนี้ต้องทุบพื้นใหม่ บดอัดดินให้แน่แล้วเทพื้นใหม่อีกครั้ง แต่ทางที่ดีเลือกบ้านแบบที่ใช้พื้นวางบนคานจะสบายใจกว่า


8. หากพบว่าไม้พื้นมีอาการโก่งตัว บิดตัวระเบิดขึ้นมา หรือพบว่ามีคราบน้ำเหนียวผุดขึ้นมาระหว่างรอยยาแนวกระเบื้อง ให้คาดคะเน ว่าใต้อาคารมีความชื้นมากจนซึมทะลุขึ้นมาบนพื้นคอนกรีต ให้เตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับแก้ไขด้วยการรื้อวัสดุปูพื้นออกแล้วทาน้ำยาป้องกันความชื้นก่อนปูผิวพื้นใหม่


9. สำหรับงานไม้ต่างๆ เช่น วงกบ หน้าต่าง ประตู ราวบันได บัวพื้น ตลอดจนถึงโครงสร้างที่เป็นไม้ เช่น เสา คาน ตง ให้ตรวจดูว่ามีปลวก มอด แมลงเข้าไปเจาะทำลายมากแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านที่ไม่มีคนอยู่ ปลวกมักเข้าไปทำรังอยู่เป็นอันมาก


10. ดูคราบรอยรั่วในจุดต่างๆ ดังนี้
- รอบวงกบหน้าต่าง ประตู
- ดูฝ้าเพดานชั้นบนสุดของบ้านว่ามีคราบน้ำรั่วที่เกิดจากหลังคารั่วหรือไม่
- ดูฝ้าเพดานใต้พื้นห้องน้ำชั้น 2 –3 ขึ้นไป หากพบว่ามีคราบน้ำรั่ว แสดงว่าท่อระบายน้ำที่พื้นห้องน้ำรั่วซึม
- ดูฝ้าไต้ชายคารอบนอกบ้านว่าคราบรอยรั่วหรือไม่
- ดูผนังห้องน้ำด้านนอกและด้านในว่ามีคราบน้ำรั่วตามแนวการเดินท่อบ้างหรือไม่
- หากตัวบ้านมีระเบียงหรือ กันสาดบริเวณชั้น 2 ให้สังเกตผูฝ้าเพดานใต้บริเวณดังกล่าวว่ามี คราบน้ำรั่วซึงหรือไม่


11. ดูระบบน้ำดีด้วยการปิดก๊อกน้ำทุกตัวในบ้านแล้วตรวจดูมิเตอร์น้ำ หากตัวเลขบนมิเตอร์วิ่งแสดงว่ามีจุดนั่วในระบบท่อน้ำดีแน่นอน


12. ตรวจดูสภาพสุขภัณฑ์ต่างๆว่าใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ และหากสภาพทรุดโทรมมากก็ต้องซ่อมแซมกันตั้งแต่ในจุดเล็กๆ เช่น แหวนยางต่างๆ จนถึงการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ เช่น ก๊อกน้ำและวาล์วต่างๆเป็นต้น


13. ตรวจดูสภาพฉนวนหุ้มสายไฟว่ากรอบแตกหรือไม่ และหากเป็นบ้านที่ยังไม่ถูกตัดไฟ ก็ให้ทดลองเปิดเบรกเกอร์จ่ายไฟเข้าสู่ระบบ แล้วดูว่าระบบไฟฟ้าแสงสว่างยังทำงานตามปกติหรือไม่ แต่สภาพอาคารเก่าๆที่อายุ 30 ปีขึ้นไปก็ควรเปลี่ยนสายไฟใหม่ทั้งระบบจะดีกว่า


14. สังเกตดูแนวรั้วบ้านว่าเอียง ทรุด ล้ม หรือบิดเบี้ยวไปหรือไม่ หากพบว่ามีและต้องซ่อมแซม ก็ต้องประเมินว่าต้องมีงานทุบรื้อรั้วในแนวนั้นออกไป และซ่อมแซมฐานรากใหม่ แล้วจึงจัดทำรั้วขึ้นมาใหม่


15. สุดท้าย นอกจากดูตัวบ้านแล้วก็อย่าลืมดูสภาพแวดล้อมด้วยว่าบริเวณข้างเคียงติดกับอะไร เช่น พื้นที่อาจไปติดกับแนวนไม้รกทึบ หรือพื้นที่การค้าประเภทอู่เคาะพ่นสี ก็จะสร้างมลภาวะต่อครอบครัวเราได้เหมือนกัน

ที่มา : หนังสือ “คู่มือปลูกบ้าน” โดย คุณศักดา ประสานไทย โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน 
ที่มา : กระทู้พันทิป

Facebook Comment