Wednesday, October 15, 2014

สรุป งานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 31



สรุป งานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 31

[1] ยอดคนเข้าชมงาน "ต่ำ" กว่าเป้า 20%
[2] ยอดขายทั้งงาน "เพิ่ม" ขึ้นจากครั้งก่อน 20%
[3] สัดส่วนการขายได้พิจารณามูลค่าขาย บ้านเดี่ยว 45% คอนโด 35% และทาวเฮ้าส์ 20%
[4] Grand U ยอดขาย 50 unit
[5] CMC ยอดขาย 25 unit
[6] SENA ยอดขาย 35 unit
[7] คาดครึ่งปีหลังตลาดอสังหาฯโต 5-10%
[8] ‪#‎Condominium‬ ตลาดกลางบน ดีสุด


สรุป สัญญาณดี เติบโตต่อเนื่องจนถึงต้นปีหน้าอย่างมีสเถียรภาพ แต่ไม่ร้อนแรงจนเกินไป

‪#‎REIC‬ ‪#‎บ้าน‬ ‪#‎คอนโด‬

ที่มา : http://www.reic.or.th/News/News_Detail.aspx?newsid=47893


Tuesday, July 1, 2014

คอนโดใหม่ในกรุงเทพฯ มิ.ย.เดือนเดียว พุ่ง 7,000 ยูนิต




ตลาดคอนโดกระเตื้อง หลังการเมืองนิ่ง "คอลลิเออร์ส"ระบุยอดเปิดตัวคอนโดใหม่ในกรุงเทพฯ มิ.ย.เดือนเดียว พุ่ง 7,000 ยูนิต ดันทั้งปีมีโอกาสแตะ 5 หมื่นยูนิต มากกว่าคาดการณ์ 1 หมื่นยูนิต

นายไทรมั่น ลัญฉน์ดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหา- ริมทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนแล้ว หลังจากผู้ประกอบการมีความมั่นใจมากขึ้น เห็นได้จากการประกาศพร้อมเปิดโครงการใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง ของปีนี้ ขณะเดียวกันกำลังซื้อเริ่มกลับมา เห็นได้จากยอดขายที่เริ่มดีขึ้นในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

แม้ว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การเปิดตัว โครงการและการซื้อขาย โดยเฉพาะตลาดคอนโด มิเนียม เปิดขายใหม่เพียง 16,167 ยูนิต ลดลง 21.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขายใหม่จำนวน 21,215 ยูนิต อย่างไรก็ตามตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวเร็วมาตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา

เห็นได้จากการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ในกรุงเทพฯ เดือนมิ.ย. มีจำนวนถึง 7,000 ยูนิต ถือว่ามีจำนวนมากกว่าเดือนเม.ย.และพ.ค. ที่มีจำนวนคอนโดมิเนียมเปิดใหม่เพียง 5,800 ยูนิต ส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 2 ปี2557 มีคอนโด มิเนียมเปิดใหม่มากถึง 12,800 ยูนิต แต่หากย้อน กลับไปดูในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาจะพบว่า มีคอนโดมิเนียมเปิดใหม่เพียง 10,119 ยูนิต ฉะนั้น จึงประเมินว่าคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ใกรุงเทพฯ ทั้งปี 2557 จะอยู่ระดับ 50,000 ยูนิต ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ระดับ 40,000 ยูนิต

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหลังการเมืองคลี่คลายจนทำให้กำลังซื้อ ดีขึ้น บริษัทจึงได้ปรับแผนการลงทุนใหม่อีกครั้ง มีมูลค่าลงทุนรวม 8,000 ล้านบาท โดยช่วงกลางเดือนมิ.ย.เป็นต้นไป บริษัทจะเปิดคอนโดมิเนียมใหม่ 4 แห่ง มูลค่าขายรวม 8,000 ล้านบาท

"บริษัทจะปรับแผนลงทุนไปตามสถาน การณ์ในช่วงไตรมาส 1 การเมืองผันผวนหนักเราเลือกที่จะชะลอ บริษัทมองว่าตลาดได้ผ่านจุด ต่ำสุดไปแล้ว ขณะนี้มีสัญญาณหลายๆอย่างดีขึ้น ทั้งในแง่ความมั่นใจผู้บริโภคและกำลังซื้อที่ดีขึ้น"

นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดอสังหาฯครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกมาก เพราะผู้ประกอบการเริ่มเปิดตัวโครงการใหม่ๆ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากครึ่งปีแรกชะลอตัวมากกว่า 40% ทั้งในแง่การเปิดตัวและการซื้อขาย ขณะที่ในส่วนของเพอร์เฟคฯ เรามีคอนโดมิเนียมที่เป็นแบรนด์ใหม่ 4 โครงการ บนทำเลใจกลางเมือง ยังไม่รวมแบรนด์เดิมที่เป็นคอนโดมิเนียมระดับกลาง-ล่างอย่างแบรนด์ไอคอนโดอีกประมาณ 8 โครงการ

ที่มา Kobkid.com 
วันที่ 30 มิถุนายน 2557

Tuesday, February 4, 2014

ทิศทางการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ 2557



Real Estate Investment in Thailand 2014

ทิศทางการลงทุนจะเป็นอย่างไร ภาครัฐและภาคเอกชนควรปรับตัวอย่างไร ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้จัดทำผลสรุปล่าสุด มานำเสนอดังนี้:

1. ทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อปี พ.ศ.2556 ทั้งปีมีโครงการเปิดตัวใหม่ถึง 475 โครงการ รวม 131,645 หน่วย รวมมูลค่า 385,447 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วโครงการหนึ่งมีขนาด 277 หน่วย มูลค่า 881 ล้านบาท นับว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่พอสมควร

2. ทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าการพัฒนาในปี พ.ศ.2556 เพิ่มขึ้นกว่าปี 2555 ถึง 29% ทั้งนี้เป็นเพราะเศรษฐกิจของประเทศเติบโตด้วยดี ยกเว้นในช่วง 1-2 เดือนล่าสุดที่มีปัญหาการชะงักงันทางเมือง ทำให้ยอดเปิดตัวโครงการชลอลงอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในเดือนธันวาคม 2556

3. ราคาขายต่อหน่วย ณ ปี พ.ศ.2556 อยู่ที่ 2.928 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกันมากตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2554-2556) การนี้แสดงให้เห็นว่า ตลาดเน้นการพัฒนาในระดับปานกลาง สินค้าระดับราคาเกิน 3 ล้านบาท มีโอกาสขายได้น้อย ส่วนสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท สามารถซื้อไว้ลงทุนและใช้สอยได้ดี ราคาวัสดุก่อสร้างไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาที่อยู่อาศัยแต่อย่างใดเลย

4. ในจำนวนและมูลค่าที่เปิดตัวในปี พ.ศ. 2556 บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท เพียงรายเดียว ครองอันดับเปิดตัวโครงการมากที่สุดถึง 51 โครงการ จำนวน 21,541 หน่วย รวมมูลค่าถึง 43,145 ล้านบาท อาจกล่าวได้ว่าบริษัทนี้มีสัดส่วนหน่วยขายหมดในตลาดถึง 16.4% หรือหนึ่งในหกของทั้งตลาด และหากในกรณีมูลค่าก็ประมาณ 11.2% หรือหนึ่งในเก้าของทั้งตลาดนี่เอง

5. ในจำนวนหน่วยขายที่เปิดใหม่ในปี พ.ศ.2556 บริษัทที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรก ครองส่วนแบ่งตลาดทั้งหมด 51.4% หรือครึ่งหนึ่งของทั้งตลาดนั่นเอง และหากพิจารณาจากมูลค่าสินค้าที่เสนอออกมาในปี พ.ศ. 2556 บริษัทที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรก ตลาดรวมกันถึง 48%

6. บริษัทมหาชนและบริษัทในเครือรวมประมาณ 50 บริษัท ครองส่วนแบ่งในตลาดที่อยู่อาศัยที่เปิดใหม่ในปี พ.ศ.2556 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมกันถึง 68% ในแง่ของมูลค่า หรือ 69% ในแง่ของจำนวนหน่วย ที่เหลือเป็นของบริษัทรายย่อยนอกตลาดหลักทรัพย์ การนี้แสดงให้เห็นว่า รายใหญ่มีส่วนแบ่งในตลาดสูงมาก แต่ไม่ได้หมายความว่ามีใครหรือรายใดรายหนึ่งสามารถชี้นำหรือครองงำตลาดได้

7. ทำไม บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท จึงยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้ ทั้งที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเช่นเดียวกับนักพัฒนาที่ดินรายอื่นในปี พ.ศ.2540-2542 และยังพบวิกฤติน้ำท่วมปลายปี พศ.2554 ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะนอกจากทำแทบทุกทำเลเช่นเดียวกับ บมจ.แลนด์แอนด์เฮาส์ ซึ่งเคยเป็นบริษัทอันดับหนึ่งในอดีต ยังพัฒนาที่อยู่อาศัยแทบทุกระดับราคา ทำให้มีฐานที่ใหญ่ ประกอบกับการมีเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ดี มีระบบการบริหาร-จัดการที่ดีและระดมมืออาชีพเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากอีกด้วย

8. หากเปรียบเทียบกับการเคหะแห่งชาติ นับแต่ พ.ศ.2519 ถึงกันยายน 2555 สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ 141,863 หน่วย (ไม่รวมบ้านเอื้อาทร 264,767 หน่วย) ในขณะที่ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ณ เดือนสิงหาคม 2555 บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท แห่งเดียวก็ผลิตได้ถึง 116,948 หน่วย รวมมูลค่า 208,674 หรือเฉลี่ยหน่วยละ 1.784 ล้านบาท แม้จะน้อยกว่าเล็กน้อยในแง่จำนวนหน่วย แต่ในแง่มูลค่ารวมน่าจะสูงกว่าสินค้าของการเคหะแห่งชาติเสียอีก จึงนับเป็นความอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่งที่เฉพาะในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท ผลิตสินค้าบ้านได้จำนวนใกล้เคียงกับการเคหะแห่งชาติที่ใช้เวลาผลิตถึง 40 ปี โดยทางราชการไม่ต้องใช้จ่ายงบประมาณใดๆ อุดหนุนเลย

9. ในปี 2557 คาดว่าจะมีหน่วยขายเปิดใหม่ไม่เกิน 100,000 หน่วย รวมมูลค่าไม่เกิน 300,000 ล้านบาท หรือลดลงจากปี พ.ศ.2556 ประมาณ 25-30% ซึ่งถือเป็นการปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ชลอลง เนื่องจากการเกิดภาวะชะงักงันในการลงทุนภาครัฐในระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งยังอาจมีความยุ่งยากทางการเมืองไปอีก 3-6 เดือน ทำให้การลงทุนภาครัฐชลอไปอีกครึ่งปีถึง 1 ปี

10. สำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการก็คือการทบทวนลดเป้าการลงทุนใหม่ การพยายามผ่องถ่ายขายทรัพย์ออกโดยเร็ว และทำการสำรวจวิจัยให้ดีก่อนการลงทุน สำหรับภาครัฐ ควรสร้างระบบคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้บริโภคภาคบังคับแก่บริษัทพัฒนาที่ดินทุกแห่งเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับระบบตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวม การควบคุมอุปทานโดยการเพิ่มอัตราเงินดาวน์ เพื่อลดการเก็งกำไรระยะสั้น รวมทั้งการพยายามขายทรัพย์สินมือสองให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ผ่านกรมบังคับคดี สถาบันการเงินด้วยวิธีการประมูลทรัพย์ที่เปิดเผยและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค เป็นต้น

ตลาดที่อยู่อาศัยในปี พ.ศ. 2557 จึงหลีกไม่พ้นประเด็นทางการเมือง เพราะทุกวันนี้การจัดกิจกรรมทางการตลาด ไม่ค่อยได้ผล เพราะการเมืองกำลังมาแรง จนดึงความสนใจของประชาชนออกไป และนักลงทุนคงไตร่ตรองแล้วที่จะ "กำเงิน" ไว้ก่อน ดูลู่ทางที่ดีในอนาคตดีกว่าเสี่ยงลงทุนในขณะนี้


ที่มา : AREA แถลง ฉบับที่ 16/2557: 3 กุมภาพันธ์ 2557

Facebook Comment